วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ว่าด้วย.....การยึดใบขับขี่ของตำรวจจราจร

พินิจ..ประเด็นว่า ตำรวจจราจรจะมีอำนาจยึดใบขับขี่หรือไม่ จะเห็นว่า ใบขับขี่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา คนอื่นจะมายึดมายุ่งโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายไม่ได้ ธนัง ได้ ค้นหาคำตอบมาฝากกัน มีคำตอบว่า หากตำรวจจะยึดใบขับขี่ในกรณีที่เราทำผิดกฎจราจรได้ ก็ต้องค้นหาว่าตำรวจอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติใดแห่งกฎหมายที่จะยึดใบขับขี่ ทั้งนี้เพราะหลักกฎหมายทั่วไปมีว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจกระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไม่ได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจที่กฎหมายบัญญัติไว้” ซึ่งหากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ตำรวจก็จะยึดใบขับขี่ไม่ได้ หากยึดไปโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจก็อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อค้นคว้าตัวบทกฎหมายก็พบว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติไว้ว่า “มาตรา ๑๔๐ เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้นๆ จะว่ากล่าว ตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ก็ให้ติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถที่ผู้ขับขี่เห็นได้ง่าย สำหรับความผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๗/๑ มาตรา ๑๕๙ มาตรา ๑๖๐ มาตรา ๑๖๐ ทวิ และมาตรา ๑๖๐ ตรี ห้ามมิให้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำการเปรียบเทียบ ในการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ไว้ และเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องรีบนำใบอนุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บไว้ไปส่งมอบพนักงานสอบสวนภายในแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ออกใบสั่ง ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ที่ออกให้ตามวรรคสามให้ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนได้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำการเปรียบเทียบปรับและผู้ขับขี่ได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้คืนใบอนุญาตขับขี่ทันที ในกรณีเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบสั่งแต่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถเป็นผู้กระทำผิดดังกล่าว เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับขี่ การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด ใบสั่งและใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำตามแบบที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด” ดังนั้น จะเห็นได้ว่า จากบทบัญญัติของมาตรา ๑๔๐ นี้ ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานซึ่งหมายถึง ตำรวจจราจรที่จะยึดใบอนุญาตขับขี่ได้เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎจราจร จึงทำให้แม้ผู้เป็นเจ้าของใบขับขี่มีอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๓๖ แต่ตำรวจจราจรก็มีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะที่จะยึดใบขับขี่ได้ เช่นนี้แล้วเมื่อตำรวจจราจรมีอำนาจตามกฎหมายในการยึดใบขี่ การที่ตำรวจจราจรเอาใบขับขี่ของเราไป เราก็จะไปแจ้งความว่าตำรวจมีความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้ เพราะการเอาไปของตำรวจเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์สินโดยมีอำนาจตามกฎหมาย สรุป คือ ตำรวจมีอำนาจยึดใบขับขี่ชั่วคราวและออกใบสั่งให้ไปเสียค่าปรับ ใบสั่งใช้แทนใบขับขี่ชั่วคราวได้ 7 วันครับ เอวังด้วยประการฉะนี้ รักษากฎหมายด้วยความเป็นธรรม..ตำรวจไทย 
ขอบคุณพี่ ศุภวิชญ์ ภักดีรักษา
อ้างอิง: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=10200642099475235&id=1242701991

แล้วถ้าเจ้าพนักงานยึดใบขับขี่ โดยที่เราไม่มีความผิด แต่ท่านออกใบสั่ง ชาวรัชดาจะทำยังไงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น